Skip to main content

เสียงเฮ..เสียงหัวเราะดังลั่นหลังคำถามของเด็กคนหนึ่ง “คุณอ้างว่าทำเพื่อความดี แต่ผมยังไม่เห็นคุณทำอะไรที่บอกว่านั้นเป็นความดีเลย” 

‘ตัวละครหญิง หมายเลข3’ อึ้งจนไปไม่ถูก เธอเป็นนักธุรกิจตัวแทนชนชั้นนำที่ติดกรอบคิดการทำเพื่อครอบครัว เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ เติบโตมาในสังคมที่มีเศรษฐฐานะดี สาแหรกรับราชการ สามีเป็นทหารโดนระเบิดเสียชีวิตจากเหตุจราจลสงครามกลางเมือง และลูกชาย ‘หมายเลข 6’ ที่เดินตามเส้นทางชีวิตของพ่อก็พลาดในยุทธการระหว่างป้องกันดาวดวงนั้นให้สงบสุขจากภัยคุกคามของสงครามชนชั้น โดยหญิงอันเป็นที่รัก ‘หมายเลข 9’ เป็นแกนนำการต่อสู้ ท้ายที่สุด ในสนามของการสู้รบ ‘หมายเลข 6’ ก็ตาบอด ยังไม่นับ ‘หมายเลข 12’ ตัวแทนนักวิชาการ หรือเอาเข้าจริงก็คือคนที่บอกว่าตนเองอยู่ตรงกลางของความขัดแย้ง และอิหลั่กอิเหลื่อในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งเชิงชนชั้น พยายามรักษา “พื้นที่ปลอดภัย” ของตนเองด้วยข้ออ้างสารพัด ทั้งที่บางครั้ง บางสถานการณ์เขาสามารถช่วยลดเงื่อนไขของความขัดแย้งไม่ให้พัฒนาไปจนเราไม่สามารถจิตนาการถึงจุดสิ้นสุด

ชั่วนาทีที่ ‘ตัวละครหญิง หมายเลข 3’ ไม่สามารถหาคำตอบอธิบายจุดยืนของตนเองได้ ยิ่งทำให้คนดูอึดอัดแทน นี่เป็นบรรยากาศส่วนหนึ่งของ “กอดเวลา" ละครถกแถลง (Dialogue Theater) ละครที่ชวนผู้ชมให้ถกเถียงถึงทางออกจากวิกฤติของดวงดาว เสรีภาพที่มากับความโกลาหล หรือ ความสงบสุขที่มาพร้อมการกดขี่ใช้เหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์ หรือ ขอให้ความรักอยู่เหนือข้อขัดแย้ง จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง แล้วพวกเขาจะอยู่ร่วมดาวดวงเดียวกันได้อย่างไร?

มีอีกหลายคำถาม หลายคำแนะนำจากผู้ชมให้แก่ตัวลครทั้งสี่ ขำขื่น บรรยากาศการสะท้อนย้อนคิดภายในแบบนี้แหละ ที่คนร้อยชีวิตแตกต่างในจุดยืนทางการเมืองปลอดภัยพอที่จะ ‘พูดบางอย่าง’ เชื่อมโยงกับ(ประสบการณ์ตนเอง) และสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทย โดยที่แต่ละคนไม่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งโดยตรง และเมื่อ ‘พูดบางอย่าง’ ออกมาแล้วทำให้คนหมู่มากเห็นจินตนาการการหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันได้ แม้เรากำลังช่วยกันแก้ปัญหาให้ ‘ดาวดวงนั้น’ แต่ทุกคนล้วนรู้อยู่กับใจว่าหมายถึงที่ใด

สิ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมสู่การสร้าง ‘พื้นที่ที่ปลอดภัย’ ซึ่งไม่ได้ปลอดภัยเพียงกายภาพ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคาม หรือคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคุกคาม แต่ไปไกลถึง “พื้นที่ปลอดภัยทางความคิดและจินตนาการ” เพียงพอที่เราจะคุยหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง จากจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายโดยเราไม่เกลียด กลัว และระแวงระหว่างกัน ในพื้นที่นี้ไม่มีใครตัดสินว่าใครผิดถูกต้องทำอะไร แต่เราเริ่มต้นจากการเรียนรู้ตนเองผ่าน “คนอื่น” คือ ตัวละครสมมตินั้นเอง 

‘พื้นที่ปลอดภัย’ ลักษณะนี้สร้างได้อย่างไร และจะขยายพื้นที่อย่างไร เพื่อเยียวยาดาวดวงอื่นๆต่อไป 

ในพื้นที่ ‘มหาลัยเถื่อน’ ยังพูดเรื่อง “ความขัดแย้งมิติต่างๆ” ผ่านวัตถุการสื่อสารหลายรูปแบบ การละคร ศิลปะ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ความหลากหลายของเพศสภาพ ความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ที่ทำให้ เราสามารถกลายเป็น “คนอื่น” ระหว่างกันได้ แต่เป็นการพูดอย่างมีชีวิตชีวา พูดจากเลือดเนื้อ เสียงหัวเราะ เหล่านี้เป็นการศึกษาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดนี้เป็นความปิติและคุณค่าสำคัญที่ได้มาใช้ชีวิตใน “#มหาลัยเถื่อนปี3” ซึ่ง ‘กลุ่มมะขามป้อมและเครือข่าย’ ช่วยกันออกแบบพื้นที่เรียนรู้ที่ทุกคนร่วมกันแบ่งปันทั้งเรียนและสอนระหว่างกัน มีเรื่องให้ถ่ายทอดขยายการเรียนรู้ได้หลายประเด็น แต่ที่แทงใจจนจุกมากๆ คือ “การเปิดพื้นที่เรียนรู้ของผู้คนที่หลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกัน” 

…..

เครดิตภาพจาก มะขามป้อมเชียงดาว Art Space

Facebook : Thitinob Komalnimi - หัวเราะเปลี่ยนโลก เถื่อนเพื่อการอยู่ร่วมกัน

หัวเราะเปลี่ยนโลก เถื่อนเพื่อการอยู่ร่วมกัน