Skip to main content

ห้องเรียนกลับหัว
เรียนรู้อนาคตจากชาวบ้านตากใบ นราธิวาส

10 ปีข้างหน้าหรือปี 2570 คณะทำงานตำบลเกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะตัวแทนกลุ่มอาชีพของผู้หญิงคิดไปไกลมากกว่าการปลูกข้าวนารวมทั้งตำบล หรือการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำไปสู่การสร้างตลาดข้าวออนไลน์ค้าขายข้ามพรมแดน คิดตั้งศูนย์การค้าและตลาดการเกษตรใต้สะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซียที่กำลังสร้างแห่งที่สาม ข้ามแม่น้ำโกลก ที่อ.ตากใบ นราธฺวาส - มาเลเซีย

ด้านตัวแทนเยาวชน พอให้คิดว่าจะเกิดอะไร 10 ปีข้างหน้า เธอคิดถึงสถานบำบัดยาเสพติดในชุมชน พอถามเพื่อสอบทานความคิดอีกครั้งว่า จริง ๆ ควรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไหม แล้วตั้งเป้าหมายใหม่ให้ 10 ปีข้างหน้าไม่มีเยาวชนติดยาเสพติดทั้งตำบล การชวนคิดใหม่เช่นนี้ทำให้เธอตาเป็นประกายและคิดถึงกิจกรรมทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ชัดมากขึ้น “ถ้าอย่างนั้นสถานบำบัดยาเสพติดควรมีก่อนปี 2563 ไหมค่ะ หรือควรปรับเป็นศูนย์เรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนดีกว่า” 

หรือบางอย่างที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจไม่ต้องรอให้ถึง 10 ปีข้างหน้า สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เลยจากปัจจุบัน หรือไม่เกินสามปี เช่น พอเราถามเรื่องคนสูงอายุในอนาคตอยู่อย่างไร มีคนเสนอว่าอีก 10 ปีคงมีชมรมผู้สูงอายุตำบลเกาะสะท้อน พอฉันขมวดคิ้วบอกว่าปีนี้อายุ 40 กว่าแล้วนะ หากรออีกสิบปี ฉันคงทำอะไรไม่ไหวแล้ว ชายสูงวัยแห่งเกาะสะท้อนก็หัวเราะออกมา เข้าใจแล้วแปลว่าอีก 10 ปี มันต้องมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือคิดไปถึงชุมชนจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไรเลยใช่ไหม 

“ถ้าอย่างนั้นชมรมผู้สูงอายุก็ต้องเริ่มเลยซิ และกลุ่มออมทรัพย์วันนี้ ต้องยกระดับเป็นสวัสดิการของชุมชน เพื่อดูแลเด็กกำพร้า คนแก่ในอนาคตเลย” คณะทำงานทั้งชายหญิงคนอื่น ๆ ที่มุงดู “เส้นอนาคต” (Time Line) ที่ฉันใช้เทปกระดาษกาวตีเส้นลงบนพื้นเต็มห้องประชุม และแบ่งช่วงเวลาซอยย่อยเรียงนับจากปี 2560 - 2570 เริ่มเข้าใจวิธีคิดมากขึ้น ต่างช่วยกันหยิบกระดาษที่คิดว่าควรเกิดและมีอะไรเป็นรูปธรรมในอนาคตบ้าง มาติดลงที่พื้นมากขึ้น

“เห็นภาพชัดขึ้นเลยถ้าตำบลสะท้อนจะเป็นตำบลต้นแบบในอีก 10 ปีข้างหน้า งานเศรษฐกิจชุมชนต้องทำอะไร งานเยาวชนก็ชัดเจนขึ้น ปรับแผนยกระดับจากกลุ่มออมทรัพย์ไปสู่สวัสดิการชุมชนอย่างไร” กระนั้นก็มีเสียงแซวว่า ถ้าทำทั้งหมดที่ปรากฎบนพื้นไม่ใช่ตำบลต้นแบบแล้ว ต้องเป็นอำเภอต้นแบบเลย เราก็เลยปลุกใจกันเป็นระยะ “เกาะสะท้อน” “เฮ้! เฮ้!” “เกาะสะท้อน” “เฮ้! เฮ้!”

การออกแบบอนาคตเช่นนี้ ฉันยืมเครื่องมือออกแบบอนาคตมาจาก ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่เคยทำครั้งแรกกับกลุ่มเอ็นจีโอหลังรัฐประหารปี 2557 เพื่อชวนกันออกจากความขัดแย้ง ครั้งที่สองทำกับแกนนำภาคประชาสังคมชายแดนใต้ให้คิดถึงอนาคตของกระบวนการสันติภาพปาตานี และครั้งที่สามกับเครือข่ายผู้นำกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ 

เดิมเราคิดอนาคตจากจุดปัจจุบันค่อย ๆ จินตนาการไปทีละวัน เดือน ปี แต่ลองจินตนาการแบบใหม่ หาก 10 ปีข้างหน้า เช่น ปี 2570 ประเทศไทยหรือชุมชนควรมีหน้าตาแบบไหน ต้องมีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นปี 2569 2568 2567 ต้องเกิดอะไรที่เป็นรูปธรรมขึ้นก่อน และจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร พูดให้ง่ายคือ เราจะขึ้นรูปอนาคตจากอดีตอย่างไร

แต่ก่อนที่คณะทำงานเกาะตำบลสะท้อนจะคิดอนาคตออกได้อย่างรวดเร็วและสร้างสรรค์เช่นนี้ ชวนกันใช้หลายเครื่องมือเพื่อซ้อมและค่อย ๆ ดึงอนาคตและภาพฝันของคณะทำงานออกมา รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความเป็นทีม และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนกล้าคิดออกจากจุดเดิม ทั้งแกนนำผู้ชาย แกนนำกลุ่มแม่บ้านและอาชีพ แกนนำเยาวชนที่มารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่

ฉันค่อย ๆ ทยอยให้เครื่องมือ เช่น การผลัดแลกเปลี่ยนสัมภาษณ์และการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงความภูมิใจ ความหวังของแต่ละคน ขอใ้ห้ทุกคนไปหยิบสิ่งของ หรือบางสิ่งจากสิ่งแวดล้อมมาแทน “ความเป็นตัวตน” ของแต่ละคน ให้เล่าเรื่องความคาดหวังในอนาคตและลองจับกลุ่มทำ 'ประติมากรรมชีวิต' ร่วมกัน เพื่อแบ่งปันพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่อนาคตร่วมกัน รวมทั้งขอให้ทุกคนทำกราฟชีวิตกลับไปดูอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในช่วง 7 ปี แต่ละคนเป็นใคร กำลังทำอะไร และจะไปในเส้นทางไหนต่อ เพื่อทบทวนชีวิตและเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง

ฉันบอกว่าสิ่งที่ทำดูเหมือนเล่น ๆ เหล่านี้ล้วนปรับเป็นเครื่องมือในการถอดบทเรียนของตนเอง กลุ่ม และคณะทำงานได้ บอกวิธีการปรับใช้ และชวนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ “ยังคิดอะไรได้อีก” ผ่านเครื่องมือ “หมวก 6 ใบ คิด 6 แบบ” ก่อนที่จะพากันกลับมาคิดเชิงระบบ (system thinking) ด้วยเครื่องมือ “ภูเขาน้ำแข็ง”

จากปัญหา “น้ำเค็มลุกเข้านาโดยเข้ามาตามลำน้ำ” ที่ต่อเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ฤดูแล้งก็ขาดแคลนน้ำ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำจากลำน้ำรอบเกาะสะท้อนไปใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำระดับตำบล 

เราชวนคิดกันว่า ถ้าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียง #ปรากฎการณ์_เหตุการณ์ (event) อะไรคือ #แบบแผน_พฤติกรรม (Pattern of behavior) หรือระบบความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากทำให้เกิดปรากฎการณ์เช่นนั้นเสมอ อะไรคือ #โครงสร้างของระบบ (Systems Structure) หรือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อแบบแผน เช่น นโยบาย กฎหมาย หรือสภาพแวดล้อม คิดวิเคราะห์จนไปถึงฐานใต้ภูเขาน้ำแข็ง คือ #ฐานคิด ความเชื่อ คุณค่า วิธีคิด (Mental Model) ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของระบบนั้น ๆ

ตอนแรกชาวบ้านก็บ่นว่ายาก แต่กระบวนการกลุ่มและข้อมูลชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหาก็นำไปสู่การวิเคราะห์ได้อย่างแหลมคม จนทุกคนเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่สามารถทะลุลงไปเปลี่ยนแปลงถึงโครงสร้างของระบบได้ 

ส่วนฉันก็เข้าใจมากขึ้นว่า จริงแล้วชาวบ้านไม่ได้มารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการนำ้ ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้ความขัดแย้งร่วมกัน แต่ชาวบ้านต้องการทำนารวมร่วมกันทั้งตำบล แต่เมื่อน้ำเค็มลุกเข้านา และรัฐไม่สามารถบริหารประตูน้ำ หรือการจัดการน้ำโดยปล่อยน้ำจืดเข้านาไปตามคลองส่งน้ำคูไส้ไก่ได้ ก็ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำต่าง ๆ เกิดความขัดแย้งแย่งน้ำที่ดำรงมาอย่างยาวนาน

บางทีฉันก็ไม่เข้าใจรัฐเหมือนกันว่าการตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ไม่มีตัวตนเข้าเป็นคณะกรรมการเพื่ออะไร หรือการบริหารน้ำให้เข้าถึงนาอย่างทั่วถึง ซ่อมประตูน้ำกั้นน้ำเค็มและให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยในฐานะคนที่รู้จักดิน น้ำขึ้นน้ำลง และน้ำหนุนทะเลเองทำไมรัฐไม่ทำ เลยชวนชาวบ้านใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนมากขึ้น คือการวิเคราะห์ตัวแสดงและอำนาจ (actors & relationship) เพื่อดูว่าใครเกี่ยวข้อง มีอิทธิพลในการจัดการกับปัญหานี้ และแต่ละตัวแสดงมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

เครื่องมือนี้ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าจะชวนใครมาทำงานในอนาคตมากขึ้น เห็นตัวแสดงที่ไม่เคยปรากฎตัวมากขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น จากเส้นความสัมพันธ์ที่หลากหลายทำให้คณะทำงานตำบลเกาะสะท้อน ชัดเจนในบทบาท “ผู้ประสานงาน” กับทุกฝ่าย เพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐท้องถิ่นได้อย่างไร แม้ว่ากระบวนการวิเคราะห์จะซ้บซ้อนมากขึ้น แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราของคณะทำงานสนุกสนานดูมีความสุขมากขึ้น

กระดาษฟลิปชาร์ตที่ต่อกัน 4 แผ่นเป็นผืนใหญ่ ได้เปิดพื้นที่ให้แกนนำทั้งผู้หญิงและผู้ชายผลัดกันแสดงบทบาทอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และรู้ชัดว่าผู้หญิงในระดับชุมชนเป็นคนกุมและดูแลทรัพยากรธรรมชาติไว้จริง ๆ ในหลายครั้งที่เธอลุกขึ้นมามีบทบาทนำการสนทนาในฐานะกลุ่มผู้ใช้น้ำตัวจริง และเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องปรับตัวจากฤดูทำนา ไปสู่การเพาะปลูกอย่างอื่น และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพวกเธอมองเป็นเรื่องเดียวเชื่อมโยงกันหมด จนแกนนำผู้ชายต้องฟังและจดบันทึกรายละเอียดเหล่านั้นไปทำแผนระยะยาว

ชาวบ้านหลายคนยอมรับว่าไม่เคยถูกฝึกให้คิดแบบนี้มาก่อน ไม่นึกว่าการเอาโต๊ะเก้าอี้ออกจากห้องประชุมทั้งหมด ปูกระดาษคิด เอาความฝันทุกคนค่อย ๆ ลงมาเทกองรวมกันมันทำได้จริง ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็เกิดความภาคภูมิใจที่ความฝัน ความคาดหวังถูกเขียนขึ้นมาเป็นรูปธรรมและได้รับการยอมรับ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกรวมกลุ่มอาชีพมากขึ้น และแกนนำผู้ชายก็ยอมรับว่า การที่ผู้หญิงออกจากครัวเรือนมารวมกลุ่มอาชีพกันนั้น กลายเป็นแผนเศรษฐกิจชุมชน และสวัสดิการชุมชนได้อย่างแหลมคมเพราะอะไร

แม้ฉันจะเหนื่อยที่ยืนนำกระบวนการคนเดียวอยู่สามวัน แต่ชาวบ้านส่งพลังกลับมาให้ จนรู้สึกว่าอยากนำเงินเก็บที่มีไปลงทุนทำสินค้าเกษตรด้วย และรู้สึกขำรัฐไม่หาย สิ่งที่ควรทำไม่ทำ ไปทำในสิ่งไม่ควร เช่น ข้าวซึ่งเป็นพันธุ์ประจำถิ่นที่เป็นที่นิยมของประชาชนในภาคใต้ คือข้าว 'ซีบูกันตัง' รัฐก็อยากเปลี่ยนให้มาปลูกข้าวพันธุ์ไทย ชาวบ้านก็ส่ายหัวว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่า ข้าวที่เขาปลูกต้องทนกับ “น้ำ 3 รส” คือทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำเปรี้ยวด้วย แทนที่รัฐจะเลิกระแวงเรื่องชาตินิยมในข้าว รัฐควรส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองให้ได้และรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ ก่อนที่พันธุ์ข้าวทั้งหมดจะกลายเป็นของซีพีหรือเปล่า

ทั้งนี้ ขอบคุณทีมงาน LDI ที่ชวนกันไปทำอะไรสนุก ๆ ร่วมกัน อยากทำแบบนี้อีกทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดละ 4-5 ตำบลก็เปลี่ยนพื้นที่ได้เยอะแล้ว ขอบคุณเพื่อน ๆ หลายคน Guay Makhampom Thawat Maneephong Num Sitdhiraksa Parichart Phinyosri ที่เป็นแรงบันดาลใจให้หยิบยืมเครื่องมือไปใช้งานได้ตามสถานการณ์ และขอบคุณมะโหนก Suppawit Noke Sanguankumthorn ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กลับไปวาดการ์ตูน วาดภาพประกอบกระบวนการจนทำให้ชาวบ้านเข้าใจกระบวนการคิดมากขึ้นนะจ๊ะ

Facebook : Thitinob Komalnimi - ชาวบ้านจัดการอนาคต

ชาวบ้านจัดการอนาคต