Skip to main content

 ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์

26 สิงหาคม 2548 : น้ำใจสันติภาพ
ผมนั่งรถเพื่อนสมิหลาไทม์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ออกจากสนามบินหาดใหญ่มุ่งหน้าสู่ศูนย์ข่าวอิศรา ที่ตั้งอยู่ใน มอ.ปัตตานี
ระหว่างทางเพื่อนนักข่าวจากนสพ.โฟกัสภาคใต้ ก็ซักถามความเป็นมาของโครงการ ผมก็เล่าให้ฟังเพียงสั้นๆว่าเป็นโครงการที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ให้กับข่าว อื่นๆที่ไม่เป็นข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง

เราต้องการเพิ่มพื้นที่ให้กับข่าววัฒนธรรม ข่าววิถีชีวิต หรือการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา

ระหว่างที่รถผ่านบ้านสะกอม อ.จะนะจงัหวัด สงขลา ผมมองเห็นเมฆฝนตั้งเค้าดำทะมึน ลอยอยู่เหนือน้ำทะเลนิดเดียว ราวกับหลุดจากท้องฟ้าลงสู่ทะเล เพียงครู่เดียวฝนก็เทลงมาอย่างหนัก ผมไม่เคยเจอสภาพเช่นนี้มานานแล้ว บางช่วงรถเราต้องหยุดเพราะมองไม่เห็นเส้นทางเลย

ผมเพียงแต่นั่งคิดว่านี้คือน้ำใจสันติภาพ

ความชุ่มเย็นของสายฝนช่วยผ่อนคลายความร้อนแรงของความรุนแรงลงไปบ้าง เราปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นความสงบสุขกลับมาโดยเร็ว

ผม ไปถึงปัตตานียังไม่ค่ำมืด มีเวลาที่ได้พูดคุยกับเพื่อนที่ศูนย์ข่าวผมเหลือบไปมองเห็นประเด็นต่างๆ ที่กระดาน พอที่จะรู้ว่าเพื่อนของผมได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นกับนักข่าวในท้องถิ่น พอที่จะมองเห็นประเด็นที่จะทำงานร่วมกัน

วันที่ 27 สิงหาคม : เยี่ยมคนทุกข์
รุ่งเช้าตูแวตานี มือริงงิ เพื่อนนักข่าววิทยุบีบีซี ในพื้นที่ พานักข่าวจากส่วนกลาง ลงพื้นที่ดูการเยียวยาเหยื่อ ตากใบ ที่บ้านของ ดือลาแม ตีมาซา" ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาสเพราะ มาหามะนาโซ" ลูกชายที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์หน้าสภ.อ.ตากใบ ซึ่งถูกจับกุม และโยนทับบนรถทหารจนไตวาย ร่างกาย อยู่ในสภาพที่น่าสงสารมาก

เขารู้สึกเบื่อหน่าย สิ้นหวัง ไม่ต้องการเดินไปพบใคร เขาเบื่อที่จะพบนักข่าว เมื่อรู้ว่าพวกเราจะมาเยี่ยม เขาตั้งใจที่จะเดินหนี เพราะเขาไม่ต้องการเล่าเรื่องความทุกข์ของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พวกเราเข้าใจความรู้ลึกดังกล่าว จึงกำชับไม่ถามเรื่องราวที่ผ่านมา

เราก็ไม่ต้องการขุดคุ้ยความทุกข์ที่เขาได้รับกลับมา หลอกหลอนเขาอีก เพราะผู้เป็นพ่อบอกว่านั่นเป็นประสงค์ของพระเจ้าไม่ขอพูดหรือเรียกร้องอะไร อีกแล้ว ซึ่งผมเองคิดว่าเป็นจิตใจที่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือพูดกันแบบพวกเรา คือก้มหน้ายอมรับชะตากรรม
ในบรรยากาศที่ซึมเศร้าของ มะโซและคนไปเยี่ยม ผมได้ยินความเห็นของ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน เพื่อนหนังสือพิมพ์จากท้องถิ่นเมืองยะลา ที่มาทำหน้าที่บรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา

อายุ ปบอกว่าจำเป็นต้องเอาศาสนาเข้ามาเยียวยา เพราะเรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเราไม่เห็นด้วยที่จะให้เหยื่อของความรุนแรงถูกทอดทิ้ง โดยไม่มีการเหลียวแล

"พวกเราต้องไปดูคนไทยพุทธด้วย ว่าเขาได้รับการดูแลอย่างไร เพื่อไม่ให้ข่าวที่นำเสนอของศูนย์ข่าวอิศราเสนอแต่คนมุสลิม เพราะคนไทยพุทธ ก็เจอปัญหาเช่นกัน " เสียงของบังอายุปคนเดิม เสนอแนวทางการทำงานของศูนย์ข่าวอิศราที่ต้องบริหารความรู้สึกของคนทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบ

พวกเราก็เห็นด้วย ซึ่งนั้นก็เป็นที่มาของเรื่อง เยียวยาชำรุด เจ้าของร้านอาหารเคราะห์ร้ายรุมสับไร้การเหลียวแล ของภาสกร จำลองราช จากค่ายมติชน ที่นำเสนอร้านอาหารคนไทยพุทธ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทีมข่าว อิศราตั้งเป้าหมายที่จะเข้าไปดูแลเหยื่อรายอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจระบบการเยียวนาทั้งหมดของรัฐว่าเป็นอย่างไร

เพื่อ หาทางออกที่ดีสุด เราไม่อาจปล่อยให้เขาเผชิญหน้าความทุกข์ตามลำพัง การใช้เงินเพียงอย่างเดียว อาจไม่ช่วยเหลืออะไรได้เลย รัฐอย่าเพิ่งคิดว่าให้เงินช่วยเหลือไปมากแล้วจะเอาอะไรกันหนักหนา เพราะในความรู้สึกของคนทุกข์ สิ่งที่เขาศูนย์เสียไม่อาจประเมินค่าเป็นเงินได้เลย


วันที่ 28 สิงหาคม 2548 : ประชุมหารือแนวทางการทำงาน
เรา มีนัดที่จะประชุมนักข่าวในศูนย์ข่าวอิศราในค่ำคืนนี้ เพื่อวางบทบาทของนักข่าวแต่ละคน หารือในประเด็นข่าวร่วมกัน วางทิศทางการทำงานของศูนย์ข่าวในอนาคต


ก่อน พลบค่ำผมได้ร่วมเดินทางไปบริเวณสี่แยกถนนมลายูบางกอก ในเมืองยะลา ซึ่งเป็นตลาดนัดผลไม้ที่ใหญ่ของจังหวัด ผมได้สอบถามแม่ค้าจำนวนมากที่มาซื้อลองกอง พบว่าหลายคนมาจากจันบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช บางคนเป็นคนในพื้นที่แต่ทำหน้าที่ เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อไปส่งยังจังหวัดอื่น ผมพบเห็นวิถีการค้าขายตามปกติ

ท่ามกลาง แดดที่ร้อนจัดในช่วงบ่าย 3 โมง ผมเห็นภาพรถที่บรรทุกผลไม้วิ่งออกจากหมู่บ้านจำนวนมาก บรรดาพ่อค้ายืนเรียงแถวโบกมือให้รถจอดเพื่อถามราคาลองกองว่าขายกิโลกรัมละ เท่าไหร่ เพราะพ่อค้าส่วนใหญ่เหมือนกับนัดหมายกันว่าให้ซื้อกันในราคา กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ชาวบ้านต้องการขายใน กิโลกรัมละ 13 บาท

เล่ห์ กลของพ่อค้าเหล่านี้ก็ง่ายนิดเดียวด้วยการยืดเวลา ให้เย็นที่สุด ราคาก็จะตกลงตามเป้าหมาย เพราะชาวบ้านต้องตัดสินใจขาย เมื่อเอาของออกจากหมู่บ้านแล้วก็ต้องขายและต้องรีบขายก่อนความมืดจะไล่ล่า แสงตะวัน เพราะเขาไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกลับเข้าหมู่บ้านในเวลากลางคืน

ผมเองก็ไปถามบรรดาพ่อค้าคนกลาง พบว่าเขาก็ไม่ได้กลัวเลยหรือกับความไม่สงบและเป็นการทำมาหากินตามปกติ แม่ ค้าจากจันบุรีก็บอกความจริงอย่างหนึ่งว่ามีชาวบ้านมา บอกว่าไม่ต้อง กลัวอะไรหาก พ่อค้าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกอย่างก็ปลอดภัย พวกเรารู้สึกสารคือชาวบ้านนั้นเองว่าทำไมเขาขายไปในราคาที่ต่ำมาก

เราสงสัยว่าทำไมการแทรกแซงของรัฐไม่สามารถชี้นำราคาตลาด ได้ เราต่างเก็บความสงสัย เหล่านี้ไว้ เพื่อค้นหาความจริงกันอีกต่อไป เพราะใกล้ค่ำและถึงเวลานัดประชุมศูนย์ข่าวฯ

การประชุมเริ่มต้นขึ้นมีเพื่อนนักข่าวจาก 3 จังหวัดรวมกับนักข่าวจากส่วนกลาง เกือบ 20 คนเข้าร่วมประชุม

ผมยังจำแววตาที่กระตือรือร้นของเพื่อนๆที่นำเสนอประเด็นมากมายให้พวกเราพิจารณา



ตูน : ธนก บังผล จากประชาชาติธุรกิจ โจ๊ย : วัสยศ งามขำ จากบางกอกโพสต์ โด่ง :นครินทร์ ชินวรโกมล จากคมชัดลึก ยะลา นิ : นาซือเราะ เจะฮะ จากสมิหราไทม์ โจม : สมศักดิ์ หุ่นงาม จากโฟกัสภาคใต้ พี่ปาเรช : มูฮัมหมัดปาเรช โลหะสัณห์ พี่ใหญ่อีกคนหนึ่งจากเดลินิวส์ปัตตานี

เรื่องง่ายๆ แต่น่าสนใจ เช่นการปลูกพืช ผักกินกันเองของชาวบ้านเพราะเขาไม่ต้องการไปตลาดเพราะไม่มั่นใจกับเหตุการณ์ เพื่อนคนนี้บอกว่านี้คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในพื้นที่

เพื่อนจากปัตตานี ก็เสนอเรื่องการใช้ภาษามาลายูในตลาดนัดเพราะว่าบางครั้งคนขายเป็นคนจีนแต่พูดภาษามลายูได้อย่างดีมาก เขา อธิบายว่านี้เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันได้ ความแตกต่างด้านภาษา ศาสนาไม่เป็นปัญหาเลย พวกเราก็เห็นพ้องบางคนเสนอว่าเราควรทำประเด็นการศึกษาในสังคมมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทั้งระบบเพื่อรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหนและจมีทางออกเป็นอย่างไร และมีอีกหลายๆเรื่องที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตามพวกเราเห็นตรงกันว่าการเสนอข่าวของศูนย์ ข่าวอิศรา ควรที่เป็นข่าวที่เป็น องค์ความรู้ หรือนำความรู้ที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดใต้ในเรื่องต่างๆนำเสนอให้สังคมภายนอกรับรู้มากที่สุดเพื่อความเข้า ที่ถูกต้องของสังคม เพราะที่ ผ่านมาอคติหรือมายาคติถูกสร้างขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้เข้าใจเรื่อง ราวใน 3 จังหวัดที่ไม่ถูกต้อง เราต้องนำเสนออย่างมีเหตุผล จะใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์ อย่างที่ผ่านมาไม่ได้ เราต้องให้คนในพื้นที่พูดในสิ่งเขาเป็นและต้องการที่จะเป็น เพราะที่ผ่านมามีแต่คนภายนอกคิด ที่จะให้คน 3 จังหวัดเป็นโดยไม่สนใจพื้นฐานบางอย่างที่ดำรงอยู่

ข้อสรุปดังกล่าวเสมือนหนึ่งเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน หลังจากจบการประชุม ผมได้รับรู้ถึงพลังที่อยู่ในตัวเพื่อนแต่ละคนที่เปิดเผยออกมา ทุกคนมีความมุ่งมั่น ที่จะทำภารกิจร่วมกัน

ทุกคนก็รู้เช่นกันว่าเป็นความยากลำบากกับสถานการณ์ความรุนแรงที่ดำรงอยู่ แต่ก็ยังมีความหวังที่จะใช้วิชาชีพสื่อมวลชนสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในสังคม

เราต้องการเสนอข่าวเพื่อยับหยั่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับฝ่ายใดก็ตาม เพราะเราเชื่อว่าความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การใช้ความรุนแรงไม่อาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้


30 - 31 สิงหาคม 2548 : บทบันทึกช่วงระเบิดเต็มเมือง
ผมร่วมกับ อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์ หรือ เอก จากโพสต์ทูเดย์ ที่รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการร่วมกับอายุป และกอล์ฟ หรือ ปกรณ์ พึ่งเนตร จากรุงเทพธุรกิจ ตระเวนพูดคุยกับกับนักวิชาการใน มอ. ปัตตานี

เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารกิจการอิสลาม พบว่ามีความอ่อนแอมากควรคิดแก้ไขปรับปรุงรวมทั้ง การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะเราต้องการองค์ความรู้ เพื่อนำเสนอในสังคมได้รู้ด้วย

เราสนทนากันท่ามกลางข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน เพราะเพื่อนของเราแต่ละจังหวัดส่งข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาให้ศูนย์ข่าว เราได้รับรู้ถึงสถานการณ์

ค่ำ คืนวันที่ 31 สิงหาคม ระหว่างที่เรานั่งทำงานที่ศูนย์ข่าว ฯเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว เมื่อได้สติเรารู้ว่าเป็นระเบิดที่ อ.หนอจิกและโคกโพธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปัตตานี เกือบ 40 กิโลเมตร

ความรุนแรงของระเบิดทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่ห่างเหตุการณ์ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้นเอง

หลังจากนั้นไม่นาน สุเมธ ปานเพชร จากศูนย์ข่าว เนชั่น กอล์ฟ สนธยา พิกุลทอง จากแนวหน้า มาจากทำธุระที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่เมื่อจอดรถ ก็บอกว่าจะไปสุไหงโก-ลก เพราะมีระเบิดเกิดขึ้นที่นั้นหลายจุด

ผมเองก็ลังเลใจเพราะเป็นห่วงในความปลอดภัย แต่เมื่อดูแววตาที่มุ่งมั่นของแต่ละคนผมเองก็ใจอ่อน เพราะถึงอย่างไร สุเมธเขาต้องไปอย่างแน่นอนเพราะเป็นภารกิจ

แน่นอนพวกเราที่เหลืออยู่ก็อดเป็นห่วง ไม่ได้ โทรศัพท์ถามไถ่ตลอดเวลา บางช่วงของการเดินทางพวกเขาเจอ เรือใบที่โรยเต็มท้องถนนเริ่มตั้งแต่ อ. บาเจาะ นราธิวาส เราก็ยิ่งเป็นห่วง

แต่เหตุการณ์วันนั้น ทำให้ผมต้องคิดว่าเมื่อเกิด เหตุการณ์วิกฤติศูนย์ข่าวของเราจะมีบทบาทอย่างไร

แน่ นอนเราต้องลงไปทำข่าวอย่างแน่นนอน แต่ไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปว่าจะเข้าไปมีบทบาทอย่างไรเพราะต้องปรับเปลี่ยน ตามสถานการณ์ พวกเราที่ศูนย์ข่าวรู้โลกโล่งใจเมื่อรู้ว่าเพื่อของเราถึงที่พักที่ อ.สุไหงโกลก อย่างปลอดภัย


วันที่ 1 กันยายน : ดูข้อเท็จจริงบ้านละหาน
พวกเรารับรู้เรื่องชาวบ้าน ละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี หลังจากนายสตอปา ยูโซ๊ะ โต๊ะอิหม่าม ซึ่งถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของฝ่ายเจ้าหน้าที่ และปิดหมู่บ้านไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายเข้าไปภายในหมู่บ้าน เป็นการเผชิญหน้าที่น่าเป็นห่วง เราไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอยเดิม และรู้ว่าจะไม่มีนักข่าวคนใดเข้าไปดูเหตุการณ์

พวกเราจึงตัดสินใจส่งทีมเข้าไปดูเหตุการณ์ ซึ่งเป็นไปตามข้อมูลที่เราได้มา เราตัดสินใจเสนอเป็นข่าวเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำเรื่องที่เงียบ สงบแต่เต็มไปด้วยความรุนแรงให้ปรากฏบนพื้นที่สื่อสาธารณะ

เรา มั่นใจว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ทุกฝ่ายในสังคมให้ ความสนใจเพื่อช่วย ยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เราต้องเกาะติดเรื่องนี้ ทำเรื่องเงียบให้สังคมได้ยิน ทำเรื่องมืดให้อยู่ในพื้นที่สว่าง เป็นภาระกิจหนึ่งของศูนย์ข่าวอิศราเพราะเรามั่นใจว่าแนวทางนี้จะช่วยยับยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งหมดนี้คือ บทเริ่มต้นของศูนย์ข่าวอิศรา เส้นทางเดินของเรายังอีกยาวไกล เพราะเราคือผู้สื่อข่าวหวังทำหน้าที่สื่อสารข้อเท็จจริงด้วยความรู้

เราเชื่อว่าความเข้าใจความเป็นจริงที่ถูกต้อง จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะเปิดพื้นที่ให้กับสันติภาพหยั่งรากลึกในแผ่นดิน

ที่มา: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย