Skip to main content

เย็นวันหนึ่ง ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆขาวที่ลอยนิ่งเหมือนรอคอยบางอย่างมาอย่างยาวนาน ความเงียบสงบของชนบทแม้ลมพัดผ่านไม้ใหญ่รกครึ้มกระหึ่มโหมแรงเพียงใด แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงความสันติ เสียงหัวเราะที่ดังแว่ว มาจากโรงเรียนหลังเขาห่างความเจริญ ที่บันไดอาคารไม้เรือนเล็กหลังนั้น กับเด็กน้อยอีก 8 ชีวิต กำลังจะทำให้โลกทั้งใบหยุดหมุน

?เพียงความธรรมดาของเส้น? คือเรื่องราวเล็กๆของเด็กประถมชายหญิง 8 คน ถูกถ่ายทอดลงบนจอเงินเป็นเวลาเพียง 11 นาที ในงานเทศกาลหนังสั้น ใต้ร่มเงาสมานฉันท์ ซึ่งเรียกเสียงปรบมือได้กึกก้อง เสน่ห์ที่สะกดคนดูให้หยุดนิ่ง ไม่เพียงเพราะเป็นการถ่ายทำที่ไม่มีบทพูดมากำหนด แบบReality Show เพื่อถ่ายทอดความเป็นธรรมชาติอันแท้จริงของเด็กเท่านั้น แต่ยังมีการดำเนินเรื่องให้เห็นอีกว่าความรุนแรงก่อเกิดมาจากอะไรและยุติได้อย่างไร เส้นที่ถูกขีดลงบนพื้นดินอย่างตั้งใจใต้ร่มไม้ใหญ่ มือน้อยๆ มือหนึ่งอาสาขีดเองเพื่อให้เพื่อนๆที่เหลืออีก 7 คนได้ร่วมเล่น ?ตี่จับ? ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาอย่างยาวนาน เมื่อการแบ่งฝ่ายผสมทั้งชายหญิงให้ได้ข้างละ 4 เสร็จสิ้น รอยยิ้มของเด็กน้อยทั้งหมดก็ปรากฏขึ้นในทันที

น.ส.ขวัญแก้ว เกตุผล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ภาควิชาภาพยนตร์ ชั้นปีที่ 2 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ นายศุภชัย ทองศักดิ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2 มีความฝันที่อยากจะสร้างหนังสั้นขึ้นมาเรื่องหนึ่ง

"ผมได้ความคิดเรื่องนี้มาหลังจากที่ได้ไปอ่านหนังสือ ประมาณว่าประเทศไทยเราไปรบกับพม่า หรือลาว เลยคิดได้ว่าวัฒนธรรมทั้งเราและเพื่อนบ้านก็ใกล้เคียงกัน ภาษาก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ยิ่งหน้าตา ศาสนา เดินผ่านกันทุกวันนี้ก็แทบจะบอกไม่ได้เลยว่ามันต่างกันตรงไหน แต่ที่เราต้องรบกันก็เพราะเส้น คือเส้นเขตแดน"

เช่นเดียวกับ น.ส.ขวัญแก้ว ที่อุปมาว่าเหมือนเชียร์กีฬาที่คนไทยด้วยกันเองก็ยังมีฝ่ายของตน

?มันเป็นเส้นแบ่งว่าฉันเป็นใคร เธอเป็นใคร มันบอกแค่ว่าโลกนี้มีคุณอยู่จริง เส้นแบ่งเป็นคนละฝั่ง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าต่างฝ่ายต่างใช้ความรุนแรง?

เด็กชายหญิงฝ่ายหนึ่งแพ้ตี่จับอีกแล้ว เสื้อผ้ายับยู่ยี่ผ่านการฉุดกระชากดึงรั้งมาหลายครั้ง ?ทำไมฝ่ายเราแพ้ตลอดเลย? เสียงเด็กน้อยคนหนึ่งถามเพื่อนเบาๆ

?เราเล่นแรงๆ กับพวกมันเลยดีกว่า? เสียงหนึ่งตอบขึ้นมาในทันที และดูเหมือนว่าความกระหายในชัยชนะได้เข้าเข้าครอบงำเด็กทั้ง 4 อย่างรวดเร็ว เพียงชนะแค่สักครั้งก็ยังดีกว่าแพ้ทุกครั้ง แม้จะมีเสียงเด็กหญิงคนหนึ่งในกลุ่มถามขึ้นมาลอยๆว่า ?จะดีเหรอ?

?เรื่องนี้ถ่ายที่โคราช (จ.นครราชสีมา) ค่ะ ที่โรงเรียนบ้านภูเขาลาด? น.ส.ขวัญแก้ว เล่าให้ฟัง ด้วยพื้นเพของหนุ่มสาวทั้งสองเป็นคนโคราช และรู้จักกับเด็กกลุ่มนี้สถานที่การถ่ายทำจึงเอาบ้านเกิดเป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้การทำงานร่วมกับเด็กเป็นไปอย่างราบรื่น

?ถ่ายอยู่ 3 วันค่ะ ถ้าถามว่ายากไหม ก็ธรรมชาติของเด็ก วุ่นวาย พูดกันยาก แต่พอได้พูดคุยทำความรู้จักสักวันสองวันก็เริ่มง่าย?

นายศุภชัย เล่าการทำงานให้ฟังต่อว่า ใช้เทคนิคตั้งกล้องไว้ 4 มุม แล้วควบคุมให้ไหลตามต้องการ ให้เด็กขีดเส้นเล่นกันเอง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ภาพและคำพูดทุกคำของเด็กจึงออกมาโดยไม่ต้องเขียนบทแม้แต่คำเดียว

?ปัญหาที่เจอก็คงเป็นเรื่องที่น้องๆ เล่นกันไปไม่นานก็จะบ่นว่าหิว ต้องวิ่งไปซื้อขนม ซื้อน้ำมาให้กินอยู่เรื่อยๆ เฉพาะค่าขนมหมดไปวันละประมาณ 800 บาท นอกนั้นก็เป็นค่าเดินทางกับค่าตัดต่อ?

?โอ๊ย..ทำไมต้องเล่นแรงด้วย?

เสียงเด็กหญิงร้องลั่น เด็กชายที่ดูตัวโตกว่าใครถูกเด็กชายอีก 2 คนที่ตัวเล็กกว่าคว้าคอกระชากในขณะที่อีกคนหนึ่งเตะและทุบเข้าที่ขาและหลัง เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกเด็กชายดึงลงกระแทกกับพื้นดิน เสื้อผ้าของเด็กทั้ง 8 ตอนนี้ นอกจากจะยับแล้วบางคนยังมีรอยฉีก และเนื้อตัวทุกคนล้วนเต็มไปด้วยรอยคลุกดิน

เด็กบางคนเริ่มเผยพฤติกรรมก้าวร้าวทั้งทางท่าทาง และคำพูด สบถด่าหยาบคาย ความไม่พอใจถึงขีดสุดปรากฏขึ้นบนใบหน้า มีการใช้กำลังทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีหม่น ลมที่พัดเย็นก็กลับนิ่งสงบ ใบไม้แห้งปลิวหล่นร่วงลงดินช้าๆ

?เด็กๆเล่นกันไปก็จะเริ่มเถียงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม เห็นได้ชัดเลยว่ามันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว พอเห็นว่าฝ่ายตัวเองสู้ไม่ได้ ก็จะมีการต่อรองให้เลือกข้างกันใหม่ พอสลับคนได้กลุ่มใหม่ ความรุนแรงก็ยังอยู่และดูเหมือนบางทีจะแรงขึ้นเรื่อยๆ?น.ส.ขวัญแก้ว เล่าบรรยากาศให้ฟัง

?เด็กบางคนพอเล่นสู้ไม่ได้ ฉันจะไม่เล่นแล้วนั่งทิ้งตัวอยู่ 2 ชั่วโมง เดินวนเวียนจนกลับมาเล่นอีก ซึ่งมีอยู่หลายครั้งที่น้องๆ เถียงกันจนเราตกใจ ก็ได้คุยกันว่าเราจะเอาอย่างไรดี เข้าไปแยกหรือว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์คอยดูว่าความรุนแรงนั้นจะจบได้อย่างไร?

นายศุภชัย ได้เสริมขึ้นว่า การเล่นตี่จับนั้นเอื้อต่อการขัดแย้งอย่างมาก ถ้าใครเล่นแรงนิดหน่อย จะก่อให้เกิดอารมณ์รุนแรงตอบสนองขึ้นเหมือนการดึงเส้น ถ้าถึงแรงก็โกรธ เด็กๆ เล่นกันจนเหลือเส้นเล็กๆอยู่นิดเดียว

?ถ้าเห็นว่าเด็กๆเริ่มเถียงกันรุนแรงมากขึ้นจริงๆ จนจะทะเลาะกันเราก็ต้องเข้าไปแยก ให้น้องๆออกมากินน้ำกินขนม ใช้เวลาไม่นานก็กลับมาเล่นกันใหม่ได้?

น.ส.ขวัญแก้ว ให้ความเห็นว่า หนังสั้นเรื่องนี้ได้สะท้อนในรูปแบบการแบ่งข้าง ถ้าฝ่ายหนึ่งแรง อีกฝ่ายหนึ่งก็จะแรงตอบ ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวด เกิดเส้นแบ่งที่ขีดในใจว่า เราคนละพวกกัน

?เส้นแบ่งนี้ถ้ามุ่งแต่จะเอาชนะเส้นจะทวีความรุนแรง แล้วในที่สุดทุกคนเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ เด็กๆมีปัญหาเหล่านี้ ความรุนแรงถูกหล่อหลอมตั้งแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร เด็กๆเล่นกัน โกรธกัน พอเปลี่ยนข้างมาอยู่ข้างเดียวกันก็ดีกัน เด็กไม่คิดมาก เป็นแค่ช่วงเวลาที่คิดว่าสนุกพอจบเรื่องก็ขอโทษกัน แล้วก็เลิกยึดติดกับเส้น?

นี่คือหนังสั้น ?เพียงความธรรมดาของเส้น? ที่ไม่ธรรมดา

ทั้ง 2 คน บอกว่า การที่ได้เข้าร่วมโครงการหนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์ เหมือนกับทำความฝันหนึ่งเป็นจริง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนมีทุนให้ มีงบประมาณให้ แค่นี้ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจมาก ไม่คาดหวังจะได้รางวัลอะไร

?เราอายุแค่ 20 ปี อายุยังน้อยการได้ทำความฝันให้เป็นจริงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า มุมมองเราชัดเจนมากแค่ไหน อายุเพียงแค่นี้เอง ประเด็นและมุมมองที่นำเสนอมันอาจจะไม่จริงไม่ถูกก็ได้?

ตะวันคล้อยต่ำลง ทิวไม้และทุ่งนาทอดยาว แต่ฟ้ากลับกระจ่างไสวอีกครั้งก่อนจะทิ้งทุกอย่างให้มืดมิดในอีกไม่ช้า เพื่อปล่อยให้ดาวสาดแสงเด่นอยู่บนฟ้าสีดำ

เด็กน้อยทั้ง 8 นั่งนิ่งและท่าทางอ่อนล้าเสื้อผ้ามอมแมม คราบเหงื่อไคลอยู่ทั่วใบหน้า สงครามตี่จับจบลงแล้ว เมื่อได้นั่งและหยุดพัก เวลาทำให้ทุกคนกลับมาสู่โลกความเป็นจริง ความรุนแรงสงบได้อย่างไร

เสียงเด็กทั้ง 8 หัวเราะหยอกล้อกันไปตลอดทาง เด็กน้อยคนหนึ่งเอ่ยปากขอโทษเพื่อนๆ เย็นวันนั้นท้องฟ้าเปลี่ยนสีได้ด้วยคำพูดของเด็กหญิงตัวเล็กๆเพียงคนเดียว

?กลับบ้านกันเถอะ?

ธนก บังผล ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย