Skip to main content

“จับมือเขา มองหน้าเขาไว้ด้วยจะได้ไม่เจ็บ”

เสียงปลอบโยนของนักเรียนหญิง ป.4 กุมมือด้านที่ว่างอยู่ของเพื่อนอีกคนที่กำลังถกแขนเสื้อกันหนาวให้ขึ้นไปเหนือข้อศอก และยื่นออกไปให้พยาบาลใช้สายยางรัดแขนคลำหาเส้นเลือดก่อนเจาะเข็มแหลมปลายยาว ดูดเอาเลือดออกมาตรวจหาปริมาณสารตะกั่ว

หลังจากมองหน้าเพื่อนอยู่พักหนึ่งเธอก็หลับตาปี๋ ร้องโอยเบา ๆ ก่อนเป่าลมออกจากปาก หยาดน้ำตาพริ้มไปที่หางตาเล็กน้อย รีบกระพริบตาถี่ ๆ ไล่ความเจ็บออกไปโดยเร็วไม่ให้เพื่อนเห็น มีเด็กหญิงและชายหลายสิบคนยืนต่อแถวด้านหลัง สีหน้าอมกังวลผลักไหล่หลังดันเพื่อนให้ไปต่อคิวเจาะเลือด เสียงถามภาษาพื้นถิ่นกระเหรี่ยงฟังไม่ชัดนักสลับเสียงหัวเราะ

“เจ็บไหม ๆ”
“มาลองเองดิ จะได้รู้”

พี่นักเรียนตัวโตหลังเข็มฉีดยาแทงที่เนื้ออ่อน ๆ ก็จะทำเสียงโอดโดย ไม่ร้องไห้ออกมาดัง ๆ เพราะกลัวเพื่อนล้อ แต่น้องเล็กที่ไม่รู้ประสา ตอนแรกก็ทำหน้านิ่งเดินไปหาพยาบาล แต่พอเข็มแหลมแทงลงที่ท้องแขนเสียงร้องไห้จ้าแหกปากดังลั่นขึ้นมาทันที พอโต๊ะหนึ่งร้อง ขวัญของนักเรียนคนอื่น ๆ ก็หายไปทันที คนหนึ่งร้องยังไม่ทันเงียบ เสียงร้องไห้จากอีกโต๊ะก็ดังขึ้นต่อ ๆ กันไป เพราะมันไม่ใช่เสียงดนตรีที่ไพเราะ แต่เป็นความเจ็บปวดที่ไม่ทันได้ตั้งตัวบรรเลงขึ้นลงอยู่นาน คนฟังไม่ใจแข็งพอที่จะทนเสียงนั้นได้อีกต่อไป

ก้อนสะอื้นหลุดเข้าไปในลำคอ หันหลังปาดน้ำตาไม่ให้คนเห็น บอกกับน้องนักข่าวที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ “พี่ไม่สัมภาษณ์แล้วนะ เอาเท่านี้พอแล้ว” และเดินนำไปรอที่รถปล่อยให้ทีมข่าวเก็บรายละเอียดกันต่อไป “ทำไมเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องโดนเจาะเลือดแบบนี้ แล้วต้องเจาะติดตามอาการพิษสารตะกั่วไปอีกนานเท่าไหร่” ภาพเบื้องหน้าทำให้เกิดคำถามคาใจมาก

...............

เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่คนหนึ่งบอกว่า ทุกปลายปีช่วงพฤศจิกายน - ธันวาคม จะออกมาเจาะเลือดชาวบ้าน 7 หมู่บ้านในตำบลชะแลง อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ไม่ได้เก็บเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 สารตะกั่วดังกล่าวทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบทางสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่มาก

“เราสันนิษฐานว่าโรคพิษสารตะกั่วน่าจะไปไกลกว่าหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จึงตรวจเลือดกินพื้นที่กว้าง 7 หมู่บ้านเลย รวมประมาณ 2,500 คน ตรวจเลือดเฝ้าระวังพิษสารตะกั่วมาสิบกว่าปี ใช้งบประมาณมากกว่า 800,000 บาทต่อปี เพราะต่อรายเสียค่าตรวจวิเคราะห์ประมาณ 600 บาท ยังไม่รวมค่าเบี้ยเลี้ยงและการเดินทางของเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง”

“งบประมาณการเฝ้าระวังโรคพิษสารตะกั่วเป็นเรื่องเชิงนโนบาย ถ้าข้างบนไม่ตั้งงบประมาณเหล่านี้ไว้ พวกเราก็ไม่รู้จะหางบประมาณที่ไหนมาดูแลชาวบ้าน”

“มาเจาะเลือดครั้งนี้ ดีใจมาก สามารถตรวจเลือดผู้ใหญ่ในหมู่บ้านได้มากที่สุดในรอบหลายสิบปี ที่ผ่านมาเจาะได้แต่นักเรียนเท่านั้น วันนี้ยังเจาะเลือดกลุ่มเด็กที่อายุน้อยที่สุดในหมู่บ้านคือ 4 เดือน และ 9 เดือน ไว้เป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบไปถึงพ่อแม่เขาด้วย” เจ้าหน้าที่คนเดิมเล่าภาพรวมให้ฟัง

16 ปี เฉพาะการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมา เป็นหน้าที่คนรุ่นปู่ย่าตายายแล้วสานต่อมายังรุ่นพ่อแม่ ทว่าหลังศาลปกครองสั่งให้มีการฟื้นฟูในปี 2556 กระบวนการออกแบบระบบฟื้นฟูยังดำเนินต่อเนื่องมิได้ลงมือจริงเสียที ในวันนี้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับปัญหาสารตะกั่วเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนที่พร้อมมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านคลิตี้ล่างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงไว้ให้คงอยู่ ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนคลิตี้ล่างมีทั้งหมด 93 ครัวเรือน ประชากร 313 คน

‘ก้องหล้า’ แกนนำเยาวชนคคลิตี้ล่าง อายุ 25 ปี บอกว่า เขามาเจาะเลือดตรวจหาพิษตะกั่วเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ผ่านมาคิดว่าตัวเองมีอาการปวดตามร่างกาย ปวดข้อ อาการเหมือนคนอื่นในหมู่บ้าน เขาไม่ได้มาตรวจเลือดเช่นนี้บ่อยนักอาจเป็นเพราะการสื่อสารไม่ทั่วถึงและหลายครั้งที่เขาไปทำงานในไร่ วันนี้เมื่อทราบข่าวจึงตัดสินใจมาตรวจเลือด “ผมอยากรู้ผลว่ามีค่าตะกั่วในเลือดเท่าใด แค่ไหนเรียกว่าสูง เพื่อประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ ว่าแค่ไหนยังกินปลาปกติ แค่ไหนต้องเลิกกินหัวปลา เลิกกินไส้ปลา และเลิกใช้น้ำในลำห้วย”

โดยวิถีที่ชาวบ้านและเด็ก ๆ เติบโตมากับลำห้วยธรรมชาติ การเป็นแกนนำเยาวชนได้พยายามสื่อสารความเสี่ยงให้เด็กเล็กในหมู่บ้าน “ก็บอกน้อง ๆ หลีกเลี่ยงเล่นน้ำที่ตะกอนขุ่น เล่นน้ำอาจจะได้ แต่อย่าพยายามกินน้ำในลำห้วย ถ้าเลี่ยงกินปลาได้ก็อย่ากิน” เพราะร่างกายเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วผ่านทางเดินอาหารได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่าตัว การก่อโรคพิษสารตะกั่วจึงเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

.................

เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจากส่วนกลาง นำโดยนพ.สุเทพ เพชรมาก รองธิบดีกรมควบคุมโรค ชวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับจังหวัดและชุมชนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี (สคร 5) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิ สาธารณสุขอำเภอทองผาภูมิ และรพ.สต.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 23 ชีวิตลงพื้นที่เรียนรู้ “ชีวิตและวิถีชาวคลิตี้ล่าง กรณี การปนเปื้อนตะกั่วในเลือดและลำห้วย” อย่างพร้อมหน้ากัน เมื่อวันที่ 18-19 ธันวาคม 2559 โดยการประสานงานและสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายผู้นำสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) 

วัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยสุขภาพและชุมชน ชาวบ้าน โดยปลายทางคาดหวังให้เกิด “ระบบเฝ้าระวังสุขภาพของชุมชน” หรือ “คลิตี้โมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบขยายไปสู่การจัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพของชุนชนในพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยมากกว่า 30 แห่งในอนาคต

‘สมพร เพ็งค่ำ’ Somporn Pengkam นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าที่มาหลังศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านและทำการฟื้นฟูลำห้วย ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้จ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาแนวทางและจัดทำแผนฟื้นฟู ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งผลการศึกษา มี 5 แผนงานหลัก คือ 1) แผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ลำห้วย บริเวณ โรงแต่งแร่และใกล้เคียง 2) แผนติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) แผนด้านสุขภาพ 4) แผนด้าน สังคมเศรษฐกิจ และ 5) แผนติดตามประเมินการดำเนินการ แต่ข้อจำกัดของกรมควบคุมมลพิษไม่สามารถสั่งให้หน่วยงานสุขภาพทำตามแผนได้ เพราะเกินอำนาจหน้าที่

ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงการทำ TOR หาบริษัทมารับดำเนินการ เมื่อการฟื้นฟูยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้น ในระหว่างนี้ชุมชนจึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำสะอาดเพื่อการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยเอง โดยนำเงินที่ชนะคดีและทำโครงการขอรับบริจาคไปจัดซื้ออุปกรณ์มาทำประปาภูเขา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำที่ปราศจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว

นอกจากนี้ ชาวบ้านได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จึงได้ทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

‘น้ำ’-‘ชลาลัย นาสวนสุวรรณ’ Chalalai Klity แกนนำเยาวชนในหมู่บ้านใช้แผนที่เดินดินอธิบายตำแหน่งแห่งที่ของบ้านเรือนชาวบ้านและวิถีการใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ทาบทับกับแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ของ คพ.ที่แบ่งออกเป็น 7 โซนในเชิงเทคนิค ชี้ให้เห็นตั้งแต่บ้านต้นน้ำของลำห้วยที่ใช้น้ำทั้งกินและปลูกพืชประเภทต่างๆ ไปจนทั้งบ้านท้ายน้ำ วิถีของชาวบ้านและการไปค้างคืนที่ไร่ ดังนั้น พื้นที่การใช้ชีวิตของชาวบ้านกว้างกว่าที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ ทีมเก็บข้อมูลยังได้สำรวจชนิดของพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูกได้มากถึง 73 ชนิด ซึ่งต้องไปจำแนกประเภทพืชหัวที่มีความเสี่ยงในการดูดดึงสารตะกั่วไปสะสมในราก เธอยังอธิบายผังเครือญาติ 4 ตระกูลใหญ่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่สืบทอดความเสี่ยงในการรับสารตะกั่วเข้าร่างกายได้ถึง 4 รุ่น โดยเธอเป็นรุ่นที่สามที่มีปริมาณสารตะกั่วในร่างกายเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้

พร้อมกับอธิบายแผนที่ชุมชนเชิงระบาดวิทยาความเสี่ยงพิษสารตะกั่วในร่างกาย โดยอธิบายผ่านสัญลักษณ์สีให้เห็นว่าบ้านใด ชาวบ้านคนใดมีความเสี่ยงระดับไหนบ้าง เช่น ถ้าสีเขียวแก่ หมายถึงพบสารตะกั่วรับการรักษาแล้ว สีเขียวอ่อน - เคยตรวจพบสารตะกั่ว สีชมพู - เคยเจาะเลือดตรวจ แต่ไม่รู้ผล ซึ่งเป็นไปได้สองประการคือ หน่วยสาธารณสุขเคยเอาผลเลือดมาให้แล้วแต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ กับไม่เคยได้รับแจ้งผลเลือดจากหน่วยสธ. สีดำ - คือคนที่ตายแล้ว คาดว่าน่าจะมีผลจากตะกั่วแต่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ สีเขียวจุดน้ำเงินตรงกลาง - ได้รับการรักษาโรคพิษสารตะกั่วแล้วและเสียชีวิตแล้ว

จากนั้นทีมสาธารณสุขได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน อย่าง ‘มะอ่องเส็ง’ - ‘วาสนา นาสวนบริสุทธิ์’ ที่สูญเสียการมองเห็นจากพิษตะกั่ว และ ‘กำธร ศรีสุวรรณมาลา’ แกนนำชาวบ้านซึ่งเป็น อสม. หมู่บ้านคลิตี้ล่างด้วย 

และในช่วงค่ำคืนมีการก่อกองไฟแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และทีมแพทย์พยายามตอบทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน

วันรุ่งขึ้น ทีมผู้บริหารสาธารณสุขส่วนใหญ่นั่งรถอีแต๊กเลาะริมลำห้วยเพื่อดูวิถีชีวิตชาวบ้านที่อิงอยู่กับสายน้ำคลิตี้ มีบางส่วนแยกไปดูแลการเจาะเลือดชาวบ้านและเด็กนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลิตี้ล่างแห่งใหม่ที่เปิดใช้งานวันแรกเช่นกัน กิจกรรมดำเนินไปเรียกเหงื่อและเสียน้ำตาจากผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่ากัน. 

จนกระทั่งหลังเที่ยง ผู้คนที่เกี่ยวข้องกลับมาถอดบทเรียนร่วมกันที่ศาลาวัด มีข้อเสนอหลายประการจากทีมสาธารณสุขทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ บางอย่างทำได้เลย และบางอย่างต้องกลับไปออกแบบเชิงระบบเพื่อทำงานร่วมกับชุมชนระยะยาว

พญ.นวลจันทร์ เวชสุวรรณมณี ผอ.รพ.ทองผาภูมิ บอกว่าจากการลงพื้นที่เรียนรู้ครั้งทำให้เห็นว่าชาวบ้านตระหนักเรื่องพิษสารตะกั่ว แต่มีข้อจำกัดเชิงวิถี หลายคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับตะกั่วในร่างกายอย่างไร แต่รายละเอียดจะปรับลดการปนเปื้อนได้อย่างไรยังเป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งอยากรู้ข้อมูลสุขภาพของตัวเขา ดังนั้น จะต้องมีการออกแบบการสื่อสารเชิงประเด็นให้ชัดขึ้น ครั้งต่อไปที่มีการนำผลเลือดมาแจกให้ชาวบ้านอาจต้องมีการเปิดพื้นที่ มีล่ามมาช่วยอธิบายความรู้ให้ชาวบ้านได้ซักถามมากขึ้น “ดีใจว่าชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านการเจาะเลือดเหมือนที่เคยได้ข่าวมา”

มีข้อเสนอจากนักวิชาการสาธารณสุขอำเภอและสาธารณสุขจังหวัด บอกเล่าคล้ายกันว่า 10 ปีที่ผ่านมาหน่วยสุขภาพในระดับพื้นที่เฝ้าระวังโรคมีการเจาะเลือด ออกหน่วยให้ความรู้ปีละ 2-3 ครั้ง เช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยน แต่การได้ลงพื้นที่ครั้งนี้พร้อมหน้ากัน ได้เรียนรู้วิถีของชาวบ้านร่วมกัน ทำให้เห็นว่าไม่สามารถย้ายชุมชนออกไปได้ เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่น่าสนใจ น่าจะมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูลข่าวสารตะกั่ว’ ที่มีศูนย์รวมที่หมู่บ้าน เป็นแหล่งข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานราชการ เช่น คพ. และ สธ. เพื่อให้เห็นภาพรวมในการเฝ้าระวังฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม

“น่าจะมีการทำประวัติศาสตร์ชุมชน ลำดับเหตุการณ์การเข้ามาของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการอะไรไว้บ้าง มีฐานข้อมูลหรือความรู้จากการปฏิบัติการนั้น ๆ อย่างไร มีการคืนข้อมูลให้กับชุมชนอย่างไรเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของชุมชนและชาวบ้าน ให้เกิดเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ใครที่เข้ามาใหม่จะได้ต่อยอดได้ ไม่ต้องรบกวนชาวบ้านบ่อยนัก เพราะไปกวนวิถีชีวิตของชาวบ้านมาก”

สำหรับระดับนโยบาย นพ.สุเทพ เห็นว่า กรมควบคุมโรคต้องไปออกแบบการทำงานเชิงระบบร่วมกับหน่วยงานสุขภาพในระดับพื้นที่ เช่น การเจาะเลือดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจต้องผสานนำแบบคัดกรองโรคที่มีอยู่แล้วมาทำเป็นสมุดบันทึกประจำตัวชาวบ้านไว้เป็นสื่อกลางเพื่อคุยกับหน่วยสุขภาพและถือไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย ในสมุดสุขภาพประจำตัวนั้นจะบันทึกประวัติการเจาะเลือด ประวัติสุขภาพ การติดตามการรักษาว่ารักษาตามอาการอย่างไร ผู้ป่วยแต่ละคน หรือชาวบ้านแต่ละคนมีความเสี่ยงในการได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายช่องทางต่าง ๆ อย่างไรในชีวิตประจำวัน ข้อมูลเหล่านี้สำหรับหน่วยสุขภาพก็ต้องบันทึกลงในแผนที่ชุมชนที่ชาวบ้านริเริ่มให้แล้ว เพื่อดูความชุกของโรคที่สัมพันธ์กับพื้นที่ในการปนเปื้อนสอดคล้องกับการบำบัดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหรือไม่

“ระดับนโยบายคงต้องวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ แล้วหาพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อสร้างตัวชี้วัดร่วมกับคพ. ไม่ต้องกังวล ระหว่างกรมคร. และคพ. มีพื้นที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว วันนี้ความเข้าใจของหน่วยงานสาธารณสุขพร้อมจะคุยกับคพ.แล้ว”

“คลิตี้อาจต้องมีแผนอนาคต 20 ปีว่าจะอยู่อย่างไร เยาวชนที่นี่จะมีอนาคตอย่างไร?”

สำหรับคนที่ทำคดีเรื่องนี้มายาวนาน เฝ้าสังเกตการณ์ความคืบหน้าเหล่านี้ ‘สุรชัย ตรงงาม’ Surachai Trongngam เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม “การเจ็บป่วยปัญหาสุขภาพของชาวบ้านคลิตี้ล่างยืดเยื้อยาวนาน เมื่อทุกภาคส่วนของหน่วยงานสุขภาพมาพร้อมหน้าอาจได้วางระบบร่วมกันกับชาวบ้านและชุมชน ในมุมกฎหมายมีปัญหาเชิงระบบ กล่าวคืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเยียวยาไม่มีการเขียนที่ชัดเจนเป็นกฎหมาย ทุกหน่วยงานจึงทำเท่าที่ระบบเอื้ออำนวยให้มี ก็ต้องคิดเชิงระบบทั้งกฎหมาย นโยบาย รวมทั้งงบประมาณ กองทุนสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาสนับสนุนงบประมาณเยียวยาด้านสุขภาพด้วยอย่างไร เพื่อดึงมิติสุขภาพให้เข้ามาตัวชี้วัดในงานเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบร่วมกัน”

……….......

‘พนาวัลย์ โต้งฟ้า’ ผละลูกน้อยวัย 4 เดือนออกจากอกส่งให้พยาบาลชายหญิงอีกสองคนช่วยกับจับตรึงลูกสาวของเธอกับโต๊ะนักเรียนที่ปูผ้าเขียวกันฝุ่นละออง พยาบาลสาวรีบรัดสายยางที่หน้าแข้งเด็กน้อยเพื่อหาเส้นเลือดบริเวณข้อเท้า ปลายเข็มแหลมแทงลงที่เนื้ออ่อน จากเสียงอ้อแอ้ ๆ ร้องหาแม่เปลี่ยนเป็นเสียงร้องไห้จ้าสะท้อนความเจ็บปวดที่เด็กน้อยรู้สึกได้ทันทีและยาวนานแม้จะถอนเข็มออกจากร่างแล้ว

‘พนาวัลย์’ บอกว่า เธอและวิบูลย์สามีเป็นคนรุ่นที่สามของหมู่บ้าน เคยตรวจเลือดหาสารตะกั่วแล้วสองครั้งในปี 2542 และ 2549 หมอแจ้งผลว่าเธอและสามีมีตะกั่วในเลือดไม่มาก ลูกชายสองคนคือ ‘พงษ์ศิริ’ และ ‘กชพล’ ก็มาตรวจกับทางโรงเรียนเกือบทุกปี วันนี้ตั้งใจพา ‘ชลลดา’ ลูกสาววัย 4 เดือนมาเจาะเลือดเป็นกรณีพิเศษ

“เรามีวิถีอยู่กับสายน้ำคลิตี้ ระหว่างตั้งท้องก็กินปลาและใช้น้ำลำห้วย” 
“เรากังวลมากว่าลูกคนนี้จะมีสารตะกั่วเหมือนกับพี่ชายสองคนด้วยหรือเปล่า”

Facebook : Thitinob Komalnimi - คลิตี้โมเดล 2016

คลิตี้โมเดล 2016