Skip to main content

ทำไมสตรีศึกษาน่าสนใจ (2): ผู้หญิง 'เสียงของความหวัง' ชายแดนใต้
- - - - - - - - - - - - - - -
[หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายเวลาเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ถึงวันที่ 20 มิ.ย. 57 ดูรายละเอียดที่นี่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/8751428/WGSSPbrochure.pdf ]

ถูกถามบ่อยจนเป็นคำถามยอดนิยม เสียเงินเรียนปริญญาโทสตรีศึกษาจบแล้วได้อะไร ไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง? จะตอบก็เกรงกำปั้นทุบดินเกินไป แต่อยากบอกไปอีกทางหนึ่งว่า ความแปลกของ 'สตรีศึกษา' คือระหว่างทางที่เรียนรู้ เราจะถูกฝึกให้คิด ฟัง ได้ยิน รวมทั้งสัมผัสกับมิติใหม่ของ 'มุมมองที่หายไป' และความรู้ใหม่นี้จะติดเนื้อติดตัวสามารถไปต่อยอดกับแนวคิดอื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าตอนนี้คุณทำการทำงานอะไรอยู่ เมื่อเปลี่ยน "แว่น" มองโลกด้วยมุมใหม่ แล้วคุณจะรู้ว่าความรู้เปลี่ยนโลกและสังคมได้เป็นอย่างไร
.
การเปิดตัวของหลักสูตร 'สตรีศึกษา' ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในต้นศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น สนามความรู้แห่งนี้ได้ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในแต่ละยุค และเปิดพื้นที่ให้เห็นการถกเถียงแนวคิดของสตรีนิยมกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์การกดทับกันเองของ 'ผู้หญิง' โดยผู้หญิงผิวสี และผู้หญิงจากโลกที่สามที่มีต่อ 'ผู้หญิงผิวขาว' โดยปรับเปลี่ยนมุมมองของความรู้เรื่องผู้หญิงไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิสตรี แต่เคลื่อนมาสู่การให้ความสำคัญกับผู้หญิงในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ใส่ใจต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจในยุคหลังอาณานิคม ยิ่งการมาเยือนของนักวิชาการระดับโลก 'กยาตรี จักรวที สปีวัค' (Gayatri Chakravorty Spivak) ระยะสั้นๆ 'ภูมิทัศน์ความรู้สตรีศึกษา' จึงมีกลิ่นอายของ Subaltern Study สอนให้เราระวังไหวต่อวาทกรรมกระแสหลักและแนวคิดแบบตะวันตกได้สร้าง 'ความเป็นอื่น' (the others) หรือ 'กลุ่มที่ถูกกดทับ' ให้แก่ผู้คนและคนเล็กคนน้อยอย่างไร ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้แก่เพศสถานะอื่นๆ ได้เผยตัวและมีปฏิบัติการของความรู้ขึ้นมาเคียงคู่ด้วย

สตรีศึกษาเสียงของความหวัง

ดังนั้น การมาปักหลักทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรงชายแดนใต้ ทำให้ฉันระมัดระวังไม่พกพา 'มุมมองของคนกรุงเทพฯ' ลงมาตีความปัญหาและแก้ไขด้วยมุมมองของเรา หรือ "คนส่วนกลาง" จนเกินงามไปนัก ทว่าเพียรฟังให้ได้ยินว่า 'คนในพื้นที่' คิดและต้องการสิ่งใด เช่น การมีโอกาสออกแบบกระบวนการและเอื้ออำนวยให้ผู้หญิงผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง 19 ชีวิต เขียนเรื่องเล่าอันเป็นปากคำของผู้หญิงที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูกของผู้สูญเสีย กลั่นกรองการก้าวข้ามความเจ็บปวด และ 'เขียนตัวตน' ของเธอด้วยมือของเธอเอง จนกลายเป็นหนังสือ "เสียงของความหวัง: เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้" ที่ถูกผลิตซ้ำเป็นนิทรรศการภาพถ่ายและสารคดีชีวิตเผยแพร่ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้
.
การเล่าเรื่องผ่านสายตาของ "ผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี" ประสบการณ์ชีวิตของเธอทั้ง 19 คน กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองและสร้างลักษณะจำเพาะของการสร้างความรู้จากกระบวนการก้าวข้ามความเจ็บปวด การเรียบเรียงความทรงจำที่เชื่อมโยงกับบริบทต่างๆของสังคม ชุมชน ว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับ 'สถานการณ์' ต่างๆอย่างไร
.
'รอซีดะ ดาโอ๊ะ' ได้ฉายภาพประวัติศาสตร์ความขัดแย้งย้อนอดีต 40 ปีผ่านชีวิตของเธอ พ่อที่เป็นโต๊ะครูสอนศาสนาอิสลามต้องหนีเจ้าหน้าที่รัฐไปอยู่มาเลเซีย สามีต้องเสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ และวันนี้ลูกชายกำลังเติบโตกับความขัดแย้งและรุนแรงที่ยืดเยื้ออย่างไม่รู้ชะตากรรม เธอบอกว่า "ความเป็นธรรมยังเดินทางมาไม่ถึงพวกเรา" 'อารีด้า สาเม๊าะ หลังจากพ่อถูกยิงเสียชีวิตการผ่านความเจ็บปวดแสนสาหัสก็ได้เรียนรู้ "ฉันเริ่มมองที่ต้นเหตุ มองที่รากเหง้าของปัญหามากกว่ามองที่เหตุการณ์ สถานการณ์หรือความรุนแรงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ฉันรู้สึกว่า คนที่ฉันต้องตามหาเพื่อทาวงความยุติธรรมให้พ่อ ไม่ใช่คนที่ลั่นไกในคืนนั้น แต่กลับเป็นการคลายปมอาฆาตที่มองไม่เห็นต่างหาก ที่จะทำให้ความยุติธรรมบังเกิดแก่สังคมชายแดนใต้ การหยุดฆ่ากันคือเป้าหมายใหญ่ของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ เราต้องทำให้คนที่ไม่เข้าใจกัน เกิดความเข้าใจกันให้ได้ และทำให้คนที่อึดอัดได้ระบายออกมาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง"
.
ท่ามกลางความทุกข์ สิ่งที่สะท้อนออกมาอีกด้านหนึ่งคือความศรัทธา และความหวังอันเป็นสิ่งที่ได้มาหลังจากผ่านช่วงเวลาความทรมานจิตใจอย่างรุนแรง เป็นการทดสอบของอัลลอฮฺ หรือเป็นการให้อภัยทานของพวกเธอ นี่อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข ที่จะนำไปสู่สันติภาพอันยั่งยืน สันติภาพขนาดย่อยที่รวมกันเป็นสันติภาพขนาดใหญ่ที่ทุกคนแสวงหาในสถานการณ์ไฟใต้ทุกวันนี้
.
มากกว่านั้นประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงทั้ง 19 คนนี้ ได้ประติดประต่อให้เห็นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการเยียวยาบาดแผลและความเจ็บปวดของผู้คนในพื้นที่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิม ช่วงแรกนั้นสังคมให้ความสำคัญกับการเยียวยาคนเจ็บและคนตาย การต้องคำนึงถึงเด็กกำพร้าจำนวนมาก ทว่า 10 ปีแห่งไฟใต้ ความรุนแรงได้สะสมปัญหาใหม่ให้งอกเงยเพิ่มขึ้น เช่น ปัญหาจากคดีความมั่นคง มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจำนวนมาก ที่พลอยทำให้ครอบครัวของผู้ต้องขังถูกขังรวมไว้กับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปัญหาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ยังไม่มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม และปัญหาใหม่ๆที่กำลังรอคอยพวกเรา
.
เรื่องเล่าของเธอเหล่านี้ ไม่ได้แช่แข็งนิยามให้เธอ 'เป็นเหยื่อ' ไปตลอดกาล หลายคนนิยามตัวเอง บ้างเป็นกระบอกเสียงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิม บ้างนิยามตนเองเป็น "มือบน" ผู้ให้ความช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่เป็นรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ฯลฯ
.
นี้คือแง่มุมบางประการที่ 'สตรีศึกษา' สอนให้ฉันเห็น "ความเป็นส่วนตัวคือความเป็นการเมือง" (the personal is political) ที่มีนัยยะว่าประสบการณ์อันใกล้ชิดคุ้นเคยและความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงสามารถเป็นแหล่งข้อมูลและพัฒนาให้เกิดกระบวนการปลุกจิตสำนึกทางการเมืองไปสู่ความเป็นการเมืองได้ วันนี้เธอทั้ง 19 ชีวิตร่วมกับ 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้' เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีอย่างมีความหวัง.

ทำไมสตรีศึกษาน่าสนใจ (2): ผู้หญิง 'เสียงของความหวัง' ชายแดนใต้